กลูต้าไธโอนเพื่อผิวขาว ทางเลือกที่ไม่น่าเสี่ยง

กลูต้าไธโอนเพื่อผิวขาว ทางเลือกที่ไม่น่าเสี่ยง
ช่วงหน้าร้อนที่ผ่านมา หากผู้เขียนจะบอกว่าอากาศร้อนได้ใจคงไม่มีใครคัดค้าน แถมแสงแดดยังแผดเผาจนทำให้รู้สึกเหมือนปลาสลิดหรือเนื้อแดดเดียว ทุกครั้งที่ต้องเดินออกมาทำธุระหรือหาอาหารกลางวันกินจะเห็นแฟชั่นร่มบานสะพรั่ง คนไทยส่วนใหญ่ (โดยเฉพาะสาวๆ) มักจะเห็นแสงแดดเป็นคู่ปรับตลอดกาล เพราะต่างก็อยากจะมีผิวขาวใส ครีมกันแดดและไวท์เทนนิ่งล้วนแต่ขายดี ถึงขั้นมีผลิตภัณฑ์ทั้งแบบกิน (ทีีมักโฆษณาเกินจริงหรือให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน) และแบบฉีด (ที่กฎหมายบ้านเราแน่นอน) ให้ผิวขาว สารสำคัญที่นิยมใช้และหลายคนอาจจะคุ้นหูคือ กลูต้าไธโอน ฉบับนี้เราจึงจะมาตามล่าหาความจริงเรื่องนี้กัน


สีผิวและสารเมลานิน

ก่อนที่เราจะเข้าถึงประเด็นที่ว่ากินอะไรแล้วผิวขาว เราต้องรู้ก่อนว่าสีผิวของคนนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร ทำไมชาวตะวันตกจึงผิวขาว แล้วคนเอเชียผิวออกคล้ำไปจนถึงผิวเข้มแบบชาวแอฟริกา สีผิวของมนุษย์เกิดจากสารให้สีหรือเม็ดสีที่เรียกว่า เมลานิน (Melanin) สารนี้ถูกสร้างโดยเซลล์ชื่อเมลาโนไซด์ (Melanocyte) ในหนังกำพร้าชั้นล่างสุด โดยสารเมลานินจะแบ่งเป็น 2 ชนิด ด้วยกันคือ ฟีโอเมลานิน (Pheomelanin) ซึ่งมีขนาดเล็หและสีอ่อน และยูเมลานิน (Eumelanin)ซึ่งขนาดใหญ่กว่าและสีเข้ม ในผิวหนังของกลุ่มชนผิวขาวจะมีฟีโอเมลานินมากกว่ายูเมลานิน ผิวจึงมีสีอ่อนในทางกลับกลุ่มคนเอเชียอย่างคนไทยเรา จะมียูเมลานินมากกว่าฟีโอเมลานิน ผิวจึงออกสีน้ำตาลอ่อน นอกจากนี้ คนผิวสีเข้มมากจะมีการสร้างเมลานินมากกว่า และเมื่อสร้างขึ้นมาแล้วจะถูกทำลายช้ากว่าด้วย ส่วนประกอบอื่นของผิวหนังก็มีผลต่อสีผิวด้วย ได้แก่ เส้นเลือด สารให้สีชนิดอื่น เช่น พวกแคโรทีนอยด์ทำให้ผิวออกสีเหลือง เห็นได้ชัดเวลาที่ใครกินมะละกอสุกปริมาณมากอย่างต่อเนื่อง จะเริ่มสังเกตุเห็นผิวพระสังข์ ถ้าหยุดกินหรือกินน้อยลงสีเหลืองจะจางลงเอง


คำถามต่อไปคือแล้วทำไมผิวหนังเราต้องมีเมลานินหน้าที่ของสารเมลานินนอกจากให้สีแก่ผิวยังมีหน้าที่ที่เกี่ยวเนื่อง หน้าที่หลักคือการกรองรังสียูวีจากแสงแดดไม่ให้มาทำร้ายเซลล์หรือส่วนประกอบของร่างกายที่อยู่ลึกลงไป ช่วยกระจายแสงและยังสามารถต้านอนุมูลอิสระได้อีกด้วย ดังนั้น จึงจะเห็นว่าสารเมลานินมีความจำเป็นต่อร่างกายของเรา


กลูตาไธไอนคืออะไร

คราวนี้มารู้จักกลูตาไธโอน (Glutathione) เป็นสารเปบไทด์ที่เกิดจากกรดอะมิโน 3 ชนิดมารวมกัน ได้แก่ ซิสเตอิน (Cysteine) กรดกลูตามิก (Glutamic acid) และไกลซีน (Glycine)ร่างกายสามารถได้เองจากโปรตีนที่กินเข้าไปในแต่ละวัน และยังสามารถได้รับจากอาหารที่เป็นแหล่งของสารนี้ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อสัตว์ ปลา ไข่ นม และพืชผักต่างๆ โดยมีมากในผลอโวคาโด หน่อไม้ฝรั่ง แตงโม และวอลนัท ถึงแม้ว่าจะดูดซึมได้ไม่ดีนัก กลูต้าไธโอนมีหน้าที่สำคัญเกี่ยวกับการกไจัดสารพิษออกจากร่างกาย ผ่านการสร้างเอนไซม์ที่ช่วยทำให้สารพิษละลายน้ำได้ดีขึ้นและกำจัดออกไปได้ง่ายเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ กระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกาย ช่วยเสริมการดูดซึมวิตามินบางชนิด เช่น วิตามินซี วิตามินอี เป็นต้น รวมทั้งช่วยปกป้องตับจากฤทธิ์ของแอลกอฮอล์ ผู้ที่มีสุขภาพดีจะไม่ขาดกลูตาไธโอนจะพบการขาดบ้างในผู้ป่วยโรคเบาหวานโรคตับ โรคความดันโลหิตสูง โรคเอดส์ เป็นต้น รวมทั้งในคนที่สูบบุหรี่จัด


กลูต้าไธโอนกับสีผิว

รู้จักสารเมลานินและกลูตาไธโอนแล้ว จะเห็นว่าสารแต่ละตัวมีหน้าที่ที่สำคัญในร่างกายของคนเรา แต่ไม่เกี่ยวข้องกันโดยตรง คราวนี้ทำไมจึงมีความสนใจหรือมีการฉีดกลูตาไธโอนให้ผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายเพื่อสร้างภูมิต้านทาน แล้วพบว่าผู้ป่วยมีสีผิวจางลง โดยคำอธิบายคือเมื่อร่างกายได้รับกลูต้าไธโอนในปริมาณมาก จะไปยับยั้งการสร้างภูมิต้านทาน แล้วพบว่าผู้ป่วยมีสีผิวจางลง โดยคำอธิบายคือเมื่อร่างกายได้รับกลูต้าไธโอนในปริมาณมาก จะไปยับยั้งการสร้างยูเมลานิน (เมลานินดม็ดสีเข้ม) และเปลี่ยนไปสร้างฟีโอเมลานิน (เมลานินเม็ดสีอ่อน) เพิ่มขึ้น ผิวจึงดูขาวขึ้น แต่ประเด็นที่สำคัญที่สุดคือผลดังกล่าวนี้เป็นผลชั่วคราวเท่านั้น เมื่อเวลาล่วงไปการผลิตเมลานินทั้ง 2 ชนิดจะกลับมาเหมือนปกติ


ความเสี่ยงจากการได้รับในปริมาณสูง

ดังที่กล่าวแล้วว่าผลจากการได้รับกลูต้าไธโอนนั้นไม่ถาวร ปัญหาจึงเกิดขึ้น ได้จากปัจจัย 2 ประการคือ การได้รับในปริมาณมากและการที่ต้องใช้ต่อเนื่องเป็นเวลานานๆการที่ร่างกายสร้างเม็ดสีน้อยลง เท่ากับว่าเรามีเมลานินที่จะช่วยป้องกันเราจากรังสียูวีน้อยลง ทำให้เซลล์เกิดการเสื่อมเร็วขึ้นอาจมีอันตรายต่อเซลล์และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งผิวหนัง อวัยวะอีกส่วนหนึ่งที่อาจได้รับผลกระทบคือ จอ (นัยน์)ตา เมื่อจอตามีเม็ดสีน้อยลง ด้วยและเสี่ยงต่อการมองไม่เห็นในระยะต่อไป นอกจากนี้ในประเทศญี่ปุ่นยังเคยมีรายการแพ้กลูตาไธโอนจาการฉีดจนเสียชีวิต


ในประเทศไทยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)อนุญาตให้ใช้กลูตาไธโอนเฉพาะเป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ส่วนมากใช้ร่วมกับวิตามิน เช่น วิตามินซี ไม่อนุญาตให้ใช้เป็นยากินหรือยาฉีดเข้าร่างกาย

การมีสีผิวแตกต่างกันของกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณต่างๆ ของโลก น่าจะเป็นการจัดการของธรรมชาติให้คนเหล่านั้นมีสภาวะที่เหมาะสมกับภูมิประเทศและภูมิอากาศ การเปลี่ยนแปลงสีผิวอาจทำให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดีจึงไม่ควรจริงจังกับเรื่องของความสวยความงามจนเกินไป เพราะเราก็ทราบกันอยู่แล้วว่าเป็นสิ่งที่ไม่จีรัง ทางที่ดีควรให้ความสำคัญกับการมีสุขภาพดีและการรักษาสุขภาพอนามัยอย่างเหมาะสมจะดีกว่า

ที่มา นิตยสารแม่บ้าน

No comments:

Post a Comment